Real MotoSports Blog

ตารางสเปครถจักรยานยนต์ บอกอะไรได้บ้าง

Written by Smith | 22 ต.ค. 2018, 6:57:24

ผู้ที่เริ่มสนใจในรถมอเตอร์ไซค์ คงจะฉงนในตัวเลขต่างๆ โดยเฉพาะเวลาเทียบรถหลายๆรุ่น ว่ามันมีความหมายอย่างไร วันนี้เราจะอ่านสเปคแบบง่ายๆ ไม่ลงลึกเกินไป โดยยกตัวอย่างรถ 2 คัน เพื่อดูว่าบอกอะไรเราได้บ้าง โดยผู้สนใจสามารถไปค้นคว้าลงลึกต่อได้ในแต่ละหัวข้อครับ วันนี้อาจจะมีสาระนิดนึงนะครับ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของทุกท่าน ศูนย์ kawasaki Real MotoSports มีอีกหนึ่งบทความเกี่ยวกับสเปคของรถมอเตอร์ไซค์มาฝากกัน

 
สเปค รถคันที่ 1 รถคันที่2

Engine displacement

Bore/stocke

Compression ratio

power

Torque

773cc twin, air coolrd

77mm x 83 mm

8:4:1

47 hp (35 kw) @ 6,500 rpm

44 lb⋅ft (60 N⋅m)  @2,500 rpm

903cc twin , water cooled

88 X 74.2 mm

9:5:1

50 hp (37 Kw) @5,700 rpm

57.5 lb⋅ft (78 N⋅m ) @ 3,700 rpm

 

        Engine displacement ตัวเลขแรกที่เราจะพบเห็นก่อน  คือปริมาตรกระบอกสูบเครื่องยนต์เป็นลูกบาศก์เซนติเมตร ส่วนมากรถที่มีขนาด CC มากกว่าก็มักจะทำความเร็วได้ดีกว่า ขนาดรถใหญ่กว่า หนักกว่า กินน้ำมันเชื้อเพลิงมากกว่า ราคารถสูงกว่า และทางกฎหมายก็จะมองว่าเป็นรถที่บังคับควบคุมได้ยาก เป็นอันตรายกว่า แต่ก็ไม่เป็นไปตามนี้เสมอไป

       Bore/Stroke  คือตัวเลขหน้ากว้างกระบอกสูบ คูณด้วยความยาวช่วงชัก โดยรถที่มีหน้ากว้างกระบอกสูบน้อยกว่าความยาว จะเป็นการออกแบบเครื่องยนต์ให้มีกำลังแรงบิดสูงสุดในรอบเครื่องต่ำ พูดให้เข้าใจง่ายคือ รอบต้นๆรถจะพุ่งดีแต่เมื่อรอบสูงขึ้นอัตราเร่งจะอ่อนลงเร่งไม่ไป  ซึ่งถ้าตรงกันข้ามกัน คือหน้ากว้างกระบอกสูบมากกว่าระยะชัก มักจะเป็นรถที่รอบต้นไม่พุ่งนัก แล้วค่อยมามีอัตราเร่งดีในรอบสูงขึ้น

       Compression ratio อัตราส่วนกำลังอัด สามารถบอกประเภทออกเทนของน้ำมันที่ใช้ได้ เช่นรถที่มีอัตราส่วนที่ 8.4:1 จะเป็นรถที่สามารถใช้น้ำมันได้ยืดหยุ่นกว่า ใช้ออคเทนต่ำเช่น 91 หรือ 95 ก็ได้ ในขณะที่รถที่มีอัตราส่วนเช่น เกิน 10:1 อาจต้องใช้น้ำมันที่มีออกเทน 95 ขึ้นไปเท่านั้นเพื่อไม่ให้เครื่องน๊อค นอกจากนี้เลขอัตราส่วน ยังสามารถบอกได้ว่า รถคันไหนมีแนวโน้มกินน้ำมันเชื้อเพลิงกว่ากัน โดยเครื่องที่มีกำลังอัดต่ำมักจะมีประสิทธิภาพด้อยกว่า เปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงกว่ารถที่มีกำลังอัดสูงซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่า จึงมักจะเห็นว่ารถที่มีกำลังอัดสูงจะมาพร้อมกับหม้อน้ำเพื่อช่วยรักษาอุณหภูมิ และจะให้ตัวเลขแรงบิดแรงม้าที่ดีกว่า ในขณะที่รถที่ระบายความร้อนด้วยลมจะมีกำลังอัดที่ต่ำกว่า และแรงบิดแรงม้าน้อยกว่า

       Power, Torque แรงม้ากับแรงบิดสูงสุด ให้ดูเทียบกับรอบเครื่อง พูดให้เข้าใจง่ายสุดได้ว่า แรงบิดเป็นอัตราเร่ง ส่วนแรงม้าเป็นความเร็วสูงสุด รถที่มีแรงบิดสูงสุดมากกว่า อยู่ในรอบที่ต่ำกว่าก็มักจะมีอารมณ์บิดออกตัวแล้วพุ่งดีกว่าแต่ความเร็วปลายแรงไม่ค่อยมี ส่วนรถที่มีแรงม้าสูงสุดมากกว่าและมาในรอบที่สูงกว่า ก็มักจะเป็นรถที่มีความเร็วปลายสูงกว่าเป็นต้น

สเปค รถคันที่ 1  รถคันที่ 2
Transmission 5-speed, chain drive 5-speed, belt drive
Rake 27° 32°
Front Tire Size 100/90-19 130/90-16
Rear Tire Size 130/80-18 180/70-15
Wheelbase 1465 mm 1650 mm
Seat Height 790 mm 680 mm
weight 217 kg 282 kg

 

        Transmission  ในปัจจุบัน รถมอเตอร์ไซค์ส่วนมากจะมีตั้งแต่ 4-6 เกียร์ โดยรถที่มีแค่ 4 เกียร์ จะเป็นรถขนาดเล็กทำความเร็วได้จำกัดเช่น วิ่งได้เพียง 100 km/h โดยปัจจุบันจะนิยมรถที่มี 6 เกียร์ เพราะให้อัตราเร่งที่ลื่นไหลต่อเนื่องกว่า จะหากรถคันนั้นมีอัตราทดแบบ overdrive ในเกียร์ 6 ก็ยิ่งช่วยให้ใช้รอบที่ต่ำลงในความเร็วเท่ากัน ประหยัดน้ำมัน และรถสั่นสะท้านน้อยกว่า รถที่มีเพียง 4-5 เกียร์

      Rake องศาของตะเกียบโช้คหน้า  ยิ่งองศามากเช่นรถแนวครุยเซอร์ ช้อปเปอร์ ก็จะยิ่งมีความนิ่งของตัวรถในทางตรง โดยแลกกับความคล่องแคล่วว่องไวในการเลี้ยวที่ลดลง เหมาะสำหรับการเดินทางระยะไกลๆ ทางตรงยาว ใช้ความเร็วสูง รถที่มีองศาน้อยเช่นรถสไตล์ Naked จะเหมาะสำหรับใช้ในเมืองที่ใช้ความเร็วต่ำกว่า หรือทางคดเคี้ยวในเขา

       Front, Rear Tire Size  ขนาดของยางหน้าหลัง (เลขตัวเลข) บอกอะไรได้บ้าง ยางหน้าที่แคบ (เช่น 100 ในรถคันที่ 1) จะบังคับเลี้ยวได้ง่ายกว่า คล่องกว่า ในขณะที่ยางหน้าที่กว้าง (130 ในรถคันที่ 2) จะบังคับเลี้ยวยากกว่าแต่รถจะนิ่งมั่นคงกว่าในทางตรง นอกจากนี้ยังบอกถึงประเภทของรถ  เช่นรถสปอร์ตจะมียางหลังที่กว้าง เพื่อให้สามารถเอียงรถใช้ความไวในโค้งได้มากกว่า ในขณะที่รถแนววิบากจะมียางที่แคบกว่าซึ่งเหมาะกับเส้นทางออฟโรด ขนาดของหน้ายางยังเกี่ยวข้องกับน้ำหนักของรถ กล่าวคือ รถที่เบากว่าก็มักจะมีหน้ายางที่แคบ รถที่หนักมากขึ้นก็มักจะมีหน้ายางที่กว้างเพื่อกระจายความร้อนลดการสึกหรอของ

       Wheelbase ระยะฐานล้อที่สั้น รถจะมีลักษณะเพรียว คล่องแคล่วว่องไว เหมาะสำหรับขี่ในเมือง หรือทางคดเคี้ยวในเขา แต่ความนิ่งของรถจะไม่สู้รถที่มีฐานล้อยาวกว่า ซึ่งจะอุ้ยอ้าย ไม่ปราดเปรียว เหมาะสำหรับใช้นอกเมือง ทางตรงยาว ความเร็วสูง

 

      Seat Height  เป็นตัวชี้ว่า เมื่อนั่งบนรถแล้วเท้าทั้งสองข้างจะแตะถึงพื้นหรือไม่ มีผลต่อความยากง่ายในการควบคุมรถโดยเฉพาะมือใหม่ ความสูงเบาะ 690มม หรือน้อยกว่าถือว่าเป็นเบาะเตี้ย ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ก็สามารถนั่งแล้วยันพื้นได้สบายทั้งสองขา ช่วยสร้างความมั่นใจสำหรับมือใหม่ได้ดีกว่า ในขณะที่รถที่มีความสูงเบาะเกิน 800มม ขึ้นไป สำหรับมือใหม่ที่ช่วงขาสั้นจะเป็นเรื่องที่ท้าทาย และต้องอาศัยเทคนิคมากขึ้นในการขับขี่

       Weight  น้ำหนักของตัวรถสำหรับรถบิ้กไบค์แล้ว เริ่มที่ 150-180 กก. ถือว่าเป็นรถน้ำหนักเบา  ซึ่งเป็นมิตรกับสุภาพสตรีที่สุด 190-220 ถือว่าเป็นคลาสน้ำหนักปานกลาง 230 ขึ้นไปจะเป็นรถที่มีน้ำหนักมาก ต้องใช้พลังและทักษะในการบังคับรถมากขึ้น รถที่น้ำหนักเบาก็จะเหมาะสำหรับขับขี่ในเมืองที่ต้องการความคล่องแคล่ว และไม่ได้ใช้ความเร็วมาก ทั้งยังประหยัดน้ำมัน มักจะมาพร้อมขนาด cc เครื่องไม่ใหญ่นัก ในขณะที่รถน้ำหนักเยอะจะนิ่งกว่า ปลอดภัยกว่าในการใช้ความเร็วสูงๆ แต่จะเหนื่อยมากหากต้องวิ่งฝ่ารถติดในเมือง และกินน้ำมันมากกว่าด้วย สำหรับมือใหม่แล้วขอให้ระวังรถประเภท cc สูง แต่น้ำหนักเบาเป็นพิเศษ ซึ่งมักจะเป็นรถแนวซุเปอร์สปอร์ต ที่ต้องอาศัยประสบการณ์ ทักษะ และความใจเย็นเป็นพิเศษในการขับขี่ให้ปลอดภัย ดังนั้นเวลาเลือกซื้อรถก็ควรพิจารณาน้ำหนักของรถให้เหมาะกับการใช้งานและทักษะของแต่ละคน จะช่วยให้มีความสุขในการขับขี่มากขึ้นครับ

       สุดท้ายนี้ ผู้อ่านคงพอเดาได้แล้วว่า ว่ารถคันที่ 1 กับ 2 ในตาราง เป็นคันไหนในรูปข้างล่าง

                                              

 

 

ติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง