ตอนนี้มาถึงเวลานับถอยหลังกันแล้ว กับศึก PTT Thailand Grand Prix 2018 หรือที่เราเรียกกันจนติดปากว่า MotoGP กับประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการมอเตอร์สปอร์ตเมืองไทย หลังจากที่อาจจะเป็นเพียงแค่ความฝัน แต่ตอนนี้ฝันกลายเป็นจริงแล้ว
เอาละครับ...คราวที่แล้วได้พูดถึงเรื่องการเตรียมตัวเดินทางและการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเข้าสู่สนาม (สำหรับใครที่ยังไม่ได้อ่านสามารถเข้าไปได้ที่นี่ คลิก) โดยเฉพาะจุดอาหารและเครื่องดื่มรวมถึงห้องน้ำในจุดต่างๆเพราะคาดว่าคนจะเยอะอย่างแน่นอน คราวนี้ก็อยากจะมาคุยเรื่องของเกมการแข่งขันกันสักหน่อยเพื่อให้ดูเกมได้สนุกขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ดูเรื่องของความเร็วของรถกันเพียงอย่างเดียว ในรายการนี้นอกจากรุ่น Moto GP แล้วก็ยังมีรุ่น Moto 2 และ Moto 3 เต็มอิ่มแน่นอนสำหรับการแข่งขันในบ้านเรา สำหรับความยาวสนามเชื่อว่าหลายคนน่าจะทราบแล้ว แต่ก็ย้ำกันอีกทีแล้วกันว่าความยาวของสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนลเซรอ์กิต นั้นมีความยาว 4.554 กิโลเมตร มีโค้งทั้งหมด 12 โค้ง
รูปภาพจาก https://www.motonaked.com/how-to/20170609/get-to-know-buriram-circuit-cic-thailand/
มีโค้งขวา 7 โค้ง และโค้งซ้าย 5 โค้ง ช่วงออกโค้ง 1 ไปจนถึงโค้ง 3 จะเป็นจุดที่หลายคนตื่นเต้นแน่นอนกับความเร็วที่เกิน 300 กิโลเมตรและต้องเบรกเพื่อเข้าโค้ง 3 ที่เป็นโค้ง และไฮไลท์กับการช่วงชิงตำแหน่งกันในโค้งนี้ และในอีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจคือการแบ่ง Sector ของสนามที่จะถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน เพื่อให้ทีมงานและนักแข่งสามารถเช็คจุดบกพร่องของตัวเองในแต่ละจุดว่าตรงไหนช้าหรือว่าตรงไหนที่ต้องแก้ไข เพื่อนำไปปรับเซตรถและให้นักแข่งได้มีการปรับแก้ไขในจุดนั้นๆ ได้ง่ายขึ้นนั้นเองแต่ในข้อมูลตรงนี้ส่วนมากผู้ชมจะไม่ค่อยได้เห็นข้อมูลกันบ่อยนัก นอกจากทางสนามจะขึ้นจอให้ดู เพราะส่วนมากจะดูข้อมูลตรงนี้ จะขึ้นที่จอมอนิเตอร์ในพิทมากกว่าเพื่อให้เป็นข้อมูลกับทีมงาน
เมื่อเกมการแข่งขันระดับโลกมาอยู่ตรงหน้าแล้วเพื่อให้การติดตามเป็นไปอย่างสนุกและเข้มข้นก็ควรมาไล่เลียงกันตั้งแต่ช่วงเวลาซ้อมกันไปเลย แต่ถ้าหากไม่มีเวลาก็อาจจะมาเริ่มในช่วงของการควอลิฟายก็ได้ การแข่งขันเรื่องของเวลาจะเป็นตัวบอกได้ว่านักแข่งไหนที่จะมีลุ้นในสนามนี้ ตามตารางเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม ซึ่งจะเป็นวันซ้อมในช่วงนี้นักแข่งจะมีเวลาในการเซตรถหรือว่าเตรียมความพร้อมให้มากที่สุด รวมถึงการเช็คเวลาต่อรอบว่าทำเวลาได้เร็วขึ้นหรือเปล่า เรามาทำความเข้าใจกันแบบสั้นๆ ว่าการซ้อมหรือ Free Practice ของMoto 2 และ Moto 3 จะมีทั้งหมด 3 เรซ ส่วน Moto GP จะมี 4 เรซ โดยที่ Moto 3 จะใช้เวลาในการซ้อมต่อครั้ง 40 นาที ส่วน Moto 2 และ Moto GP จะใช้เวลาซ้อม 45 นาทีต่อครั้ง
และช่วงเวลาที่เริ่มเข้มข้นก็คือช่วงของการควอลิฟายหรือว่าหาตำแหน่งสตาร์ท เพราะจะเป็นช่วงที่ชิงความได้เปรียบกันมากที่สุด ในการควอลิฟาย Moto 3 จะใช้เวลา 40 นาที และ Moto 2 จะใช้เวลา 45 นาที และยังใช้การควอลิฟายแบบหาเวลาที่ดีที่สุดในการจัดอันดับสตาร์ท ต่างจาก Moto GP ที่มีการเปลี่ยนแปลงมาตั้งปี 2013 ที่ได้มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นแบบรายการ WSBK
การควอลิฟายในแต่ละเรซจะใช้เวลา 15 นาที จะแบ่งออกเป็น 2 เรซ จะมีการจับเวลาจากช่วงการซ้อม 3 ครั้งแรกเพื่อหาผู้ที่ทำเวลาดี 10 คันไปรอการควอลิฟายในรอบ 2 และจะหาผู้ที่ทำเวลาดีในรอบแรก 2 อันดับแรกผ่านเข้าไปสู่การควอลิฟายรอบ 2 ทำให้การควอลิฟายรอบ 2 จะมีรถทั้งหมด 12 คัน ในการหาอันดับสตาร์ท ส่วนอันดับ 13 ไปนั้นจะเป็นการดูเวลาการจากการซ้อม 3 ครั้งที่ผ่านมา ใครเวลาจะดีหรือไม่ดีก็อยู่ที่การวางแผนและการเลือกใช้ยางกันด้วยเอาไว้มีเวลาเดี๋ยวจะมาเล่าให้ฟัง นี่แหละคือความเข้มข้นของการควอลิฟายใน Moto GP ถ้าให้สนุกก็ต้องดูกันตั้งแต่ช่วงซ้อมกันเลย สำหรับช่วงของการแข่งขันจะมีการวอร์มอัพ 1 รอบสนาม ก่อนที่การแข่งขันจะเริ่มต้นขึ้น ส่วนการขับขี่ในพิทนั้นนักแข่งจะต้องใช้ความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตรงนี้จะมีคนคอยจับความเร็วอยู่ตลอดเช่นกัน
รูปภาพจาก https://ultimatemotorcycling.com/2018/03/18/2018-qatar-motogp-results-coverage-9-fast-facts/